วันเสาร์ที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2554

อนูเชห์ อนูเชห์ เศรษฐินีมุสลิม นักท่องอวกาศหญิงคนแรก


อนูเชห์ อนูเชห์ เศรษฐินีมุสลิม นักท่องอวกาศหญิงคนแรก
Anousheh Ansari, First Female Space Tourist
เธอยิ้มละไมอยู่ในห้วงอวกาศด้วยความปลาบปลื้มที่ฝันเป็นจริง...
อนูเชห์ อันซารี (Anusheh Ansari) วัย 40 ปี เป็นเศรษฐินีโทรคมนาคมชาวอิหร่านสัญชาติอเมริกัน ผู้ร่วมก่อตั้งและเป็นประธานบริษัทโปรเดีย ซิสเต็มส์ (Prodea Systems) มีสำนักงานใหญ่อยู่ที่รัฐเท็กซัส ก่อนหน้านี้เธอเคยร่วมก่อตั้งและเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ของบริษัทเทเลคอมเทคโนโลยี หรือ ทีทีไอ(Telecom Technologies) หรือ ทีทีไอ (TTI) ประวัติศาสตร์โลกได้จารึกว่าอนูเชห์เป็นสตรีคนแรก เป็นสตรีมุสลิมคนแรก และเป็นชาวอิหร่านคนแรกที่ได้ท่องเที่ยวอวกาศ เธอนับเป็นนักท่องเที่ยวอวกาศรายที่ 4 แล้ว
อิหร่านบ้านเกิด
อนูเชห์ ราอิสยาน (Anusheh Raissyan) เกิดเมื่อวันที่ 12 กันยายน ค.ศ.1966 ที่เมือง มัชฮาด (Mashhad)ประเทศอิหร่าน จากนั้นไม่นานครอบครัวของเธอก็อพยพไปอยู่ในกรุงเตหะราน เมืองหลวงของอิหร่าน อนูเชห์พูดภาษาอิหร่านและฝรั่งเศส อนูเชห์อยุ่ในเตหะรานช่วงเกิดเหตุการณ์ปฏิวัติอิหร่านในปีค.ศ.1979 ต่อมาในปี 1984 ครอบครัวเธอได้อพยพไปตั้งรกรากในประเทศสหรัฐฯ ในขณะนั้นเธอแทบพูดภาษาอังกฤษไม่ได้เลย แต่ด้วยความมานะพยายาม 5 ปีต่อมาอนูเชห์คว้าปริญญาตรีทั้งสาขาวิศวะไฟฟ้าและสาขาคอมพิวเตอร์ที่มหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน และต่อโทที่มหาวิทยาลัยจอร์จ วอชิงตัน
ชีวิตการทำงาน
หลังจบการศึกษา อนูเชห์เริ่มทำงานที่บริษัท เอ็มซีไอ (MCI) บริษัทโทรศัพท์ชื่อดังของสหรัฐฯ ซึ่งเธอได้พบกับ ฮามิด อันซารี (Hamid Ansari)สามีของเธอ ในปี 1993 อนูเชห์ชักชวนสามีและ อามีร์ อันซารี (Amir Ansari) น้องชายของสามีนำเงินเก็บและเงินสำรองเลี้ยงชีพของพวกเขามาร่วมก่อตั้งบริษัทเทเลคอมเทคโนโลยี หรือ ทีทีไอ นับว่าพวกเขาทั้งเก่งและเฮงมาก เพราะช่วงนั้นเป็นช่วงเริ่มเปิดเสรีธุรกิจโทรคมนาคมของสหรัฐฯ ฮามิด สามีของอนูเชห์บอกว่าแรกๆ ทีทีไอก็ล้มลุกคลุกคลานอยู่หลายปีเหมือนกันกว่าจะสามารถทำรายได้ปีละหลายสิบล้าน ต่อมาในปี 2000 ช่วงบูมสุดของธุรกิจโทรคมนาคม พวกเขาขายหุ้นของบริษัททีทีไอให้กับบริษัทโซนัสเน็ทเวิร์ก (Sonus Network) ด้วยมูลค่าถึง 550 ล้านเหรียญสหรัฐ(ประมาณ 20,000 ล้านบาทเศษบริษัททีทีไอถือว่าเป็น 1 ใน 500 บริษัทที่เติบโตเร็วที่สุดตามการจัดอันดับของนิตยสารธุรกิจ
ต่อมาอนูเชห์ร่วมก่อตั้งและเป็นประธานบริษัท โปรเดีย ซิสเต็มส์ ซึ่งเป็นบริษัทการลงทุนของครอบครัว โปรเดียได้ประกาศร่วมทุนกับสเปซแอดเวนเจอร์และองค์การบริหารการบินและอวกาศรัสเซีย สร้างยานอวกาศเพื่อการพาณิชย์ ทำให้อนูเชห์ได้ฝึกเป็นนักบินอวกาศกับสเปซแอดเวนเจอร์
นักท่องเที่ยวอวกาศหญิงคนแรกของโลก
แม้ว่ารัฐบาลสหรัฐฯ และอิหร่านจะไม่ลงรอยกันในเรื่องโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่าน แต่อนูเชห์ประกาศว่า จะอุทิศภารกิจอวกาศที่เป็นโอกาสแรกของตนที่จะมองเห็นโลกจากมุมมองในอวกาศเพื่อให้คนทั่วโลกตระหนักในความกลมเกลียว
คุณจะได้เห็นว่าโลกของเราเล็กและบอบบางขนาดไหน หากได้ขึ้นไปมองโดยเปรียบเทียบกับจักรวาลที่กว้างใหญ่ นั่นจะทำให้เกิดสำนึกรับผิดชอบต่อโลกมากขึ้นกว่าเดิม อนูเชห์วัย 40 ปีกล่าวก่อนออกเดินทางอย่างที่ฝันมาตั้งแต่วัยเด็ก
ในวันประวัติศาสตร์ของเธอ อนูเชห์สวมชุดนักบินอวกาศที่ติดธง 2 ชาติ คือ อิหร่านอันเป็นบ้านเกิด และสหรัฐฯ ที่เธอเป็นพลเมืองอยู่ในปัจจุบัน โดยเธอกล่าวว่า ทั้ง 2 ประเทศหล่อหลอมให้เธอเป็นอย่างดี เธอเกิดที่อิหร่านและอยู่ที่นั่นจนอายุ 16 ถึงย้ายมาที่สหรัฐฯ ดังนั้นจึงซึมซับวัฒนธรรมอิหร่านเข้ามามากมาย ขณะเดียวกันก็อยู่สหรัฐฯ มายาวนานและมีโอกาสมากมาย รวมถึงโอกาสที่ได้มาเป็นนักบินอวกาศ
ยานโซยูซ (Soyuz TMA-9) ของรัสเซียนำอนูเชห์ทะยานออกจากฐานปล่อยจรวดที่ไบโคนูร์ ประเทศคาซักสถาน เมื่อ 12.08 น. ตามเวลาในไทย วันที่ 18 กันยายน ค.ศ.2006 โซยุซจอดเทียบสถานีอวกาศนานาชาติ (ไอเอสเอส) อย่างราบรื่นเมื่อ 20 ก.ย. โดยศูนย์ควบคุมภาคพื้นดินที่เมืองโคโรเลฟ นอกกรุงมอสโก ได้แพร่สัญญาณภาพขณะนักบินทั้ง 3 ก้าวเข้าสู่ไอเอสเอส โดยไทยูรินหันมาให้ความมั่นใจกับญาติๆ ของอนูเชห์ที่เฝ้าดูอยู่บนพื้นโลกว่า พวกเราจะดูแลเธอเอง
เธอกลับถึงโลกวันที่ 28 กันยายน ค.ศ.2006 คาดว่าอนูเชห์จ่ายค่าแพคเกจทัวร์นอกโลกมูลค่าประมาณ 20 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (เกือบ 800 ล้านบาท)ก่อนหน้านี้อนูเชห์ต้องเข้าค่ายเตรียมตัวที่ศูนย์ Gagarin Cosmonaut Training Center (GCTC) ประเทศรัสเซียมานานหลายเดือนในฐานะนักท่องเที่ยวตัวสำรองหากเศรษฐีกระเป๋าหนักที่จ่ายเงินก่อนไม่สามารถไปได้ ส้มหล่นมาถึงอนูเชห์ได้ก็เพราะ ไดสึเกะ อีโนะโมะโตะ (Daisuke Enomoto)นักธุรกิจชาวญี่ปุ่น นักท่องเที่ยวตัวจริงซื้อทัวร์อวกาศไว้ต้องอดเดินทางในโค้งสุดท้ายเพราะตรวจร่างกายไม่ผ่าน
อนูเชห์เดินทางพร้อมกับ มิคาอิล ไทอูริน (Mikhail Tyurin) นักบินอวกาศรัสเซีย และ มิเกล โลเปซ-อเลเกรีย (Miguel Lopez-Alegria) นักบินอวกาศอเมริกันเชื้อสายสเปน ภารกิจการเดินทางของนักบินอวกาศตัวจริงก็คือการเปลี่ยนเวรเฝ้าสถานีอวกาศแทนพาเวล วิโนกราดอฟ ( Pavel Vinogradov) จากรัสเซีย และเจฟฟ์ วิลเลียมส์ (Jeff Williams) จากสหรัฐฯ ที่เฝ้าทำงานบนสถานีอวกาศมาตั้งแต่วันที่ เมษายน ค.ศ.2006 อนูเชห์เดินทางกลับโลกกับแคปซูลโซยูซ TMA-8 รวมเวลาท่องอวกาศของเธอ 10 วัน
บรรดาญาติของอนูเชห์ มหาเศรษฐีอิหร่าน-อเมริกัน ต่างแสดงความยินดีและภาคภูมิใจขณะเฝ้าชมการเคลื่อนไหวของอนูเชห์บนสถานีอวกาศ ด้านฮามิด อนูเชห์ สามีของอนูเชห์ กล่าวว่า อนูเชห์สร้างประวัติศาสตร์ เธอโชคดีมากที่มีพี่เลี้ยงนักบินเก่งและช่วยฝึกเธอมาอย่างดี ขณะที่อาตูซา ราอิสยาน น้องสาวของอนูเชห์ กล่าวด้วยความปลื้มใจว่าเธอรู้อยู่แล้วไม่ช้าหรือเร็วอนูเชห์ต้องมีวันนี้ เพราะการเดินทางไปอวกาศเป็นสิ่งที่อนูเชห์ใฝ่ฝันตั้งแต่เด็ก
อนูเชห์เล่าอีกว่า นับเป็นช่วงเวลาที่สุดยอดมากที่ได้เดินทางออกไปนอกโลกมองเห็นโลกทั้งใบท่ามกลางอวกาศอันมืดมิด เธอว่าการบินสู่อวกาศนั้นติดอยู่ในหัวใจและในวิญญาณของเธอ
ตั้งแต่เด็กกระทั่งเป็นผู้ใหญ่ ฉันมักมองท้องฟ้าดูดวงดาว และสงสัยเสมอว่าถ้าออกไปอยู่นอกโลกจะเป็นอย่างไร และในจักรวาลเป็นยังไง อนูเชห์เล่าอย่างตื่นเต้นหลังจากเตรียมการบินมาตั้งแต่ต้นปี
ก่อนหน้านี้มีเศรษฐีซื้อแพกเกจทัวร์ท่องเที่ยวอวกาศเดินทางไปพร้อมกับโซยุซแล้ว 3 ราย ไม่ว่าจะเป็นเดนนิส ติโต (Dennis Tito) ในฐานะนักท่องอวกาศคนแรกของโลกมาร์ก ชัทเทิลเวิร์ธ (Mark Shuttleworth), และเกรก โอลสัน (Greg Olsen) ส่วนอนูเชห์ถือเป็นนักท่องเที่ยวอวกาศรายที่ 4แต่เป็นนักท่องเที่ยวหญิงคนแรกของประวัติศาสตร์การไปอวกาศเพื่อการท่องเที่ยว
อนูเชห์มิได้เป็นชาวตะวันออกกลางคนแรกที่เดินทางท่องอวกาศ ก่อนหน้านี้ในปี 1985 ซัลมาน อับดุลอาซิซ อัล-ซาอุด นักวิจัยจากประเทศซาอุดิอารเบีย เคยเดินทางสู่อวกาศมาแล้ว
ด้านการกุศล วันที่ 5 พฤษภาคม 2004 ครอบครัวของอนูเชห์บริจาคเงินให้แก่มูลนิธิเอ็กซ์ไพรซ์ (X Prize Foundation) เป็นจำนวนมาก จนทำให้ทางมูลนิธิต้องนำนามสกุลของเธอมาขึ้นต้นไว้เพื่อเป็นการให้เกียรติ ชื่อรางวัลจึงกลายมาเป็น อันซารี เอ็กซ์ ไพรซ์ (Ansari X Prize) รางวัลนี้มีมูลค่าสูงถึง 10 ล้านเหรียญสหรัฐฯ มอบให้กับบริษัทเอกชนรายแรกที่สามารถนำมนุษย์ไปสู่อวกาศได้ และ เบิร์ต รูทัน (Burt Rutan) นักบินอวกาศรุ่นเดอะก็ได้รับเงินรางวัลนี้ไปในปี 2004
อนูเชห์ยังเป็นกรรมการขององค์กรการกุศลหลายแห่งเช่น Make-a-Wish Foundation ที่ด้านเหนือของรัฐเท็กซัส Childrens Advocacy Center ที่เมืองคอลลิน และ Ashoka Foundation
ด้านธุรกิจ อนูเชห์เคยรับรางวัลมากมาย เช่น รางวัลนักธุรกิจหญิงที่ประสบความสำเร็จที่สุด ปี 2000 จากนิตยสารเวิร์กกิ้งวูแมน นิตยสารฟอร์จูน ยกให้อนูเชห์ติด 1 ใน 40 นักธุรกิจที่ประสบความสำเร็จตั้งแต่อายุน้อยกว่า 40 ปี ประจำปี 2001

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น